TAI ผนึกกำลังภาครัฐและเอกชน ลงนาม MOU สร้างความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนา ทดสอบชิ้นส่วนอากาศยาน ร่วมกับ TISTR, GISDA และ THAI SUBCON พิธีลงนามความร่วมมือ “บันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนา ทดสอบชิ้นส่วนอากาศยาน พลอากาศเอกศุภชัย สายเงิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (TAI) พร้อมด้วย ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (TISTR) นายเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (THAI SUBCON) และ นายปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) ร่วม พิธีลงนามความร่วมมือ “บันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนา ทดสอบชิ้นส่วนอากาศยาน โดยมี นาวาอากาศโทสุรศักดิ์ ภู่ทอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ TAI ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาเทคโนโลยีกิจการอวกาศ(GISTDA) ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม TISTR และ นายสมควร จันทร์แดง ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (THAI SUBCON) ให้เกียรติเข้าร่วมเป็นสักขีพยานลงนามในครั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2565 ณ ห้อง Grand Hall 201 ศูนย์การประชุมและนิทรรศการไบเทค ซึ่งการลงนามในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแรงร่วมกันของทั้ง 4 องค์กรดำเนินงานตามเป้าหมายที่สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (S-Curve 7) และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (S-Curve 11) ด้วยการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน ในการพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่สำคัญให้กับบริษัทผู้ผลิตอากาศยาน ซึ่งได้รับการรับรองจากบริษัทผู้ผลิตตามมาตรฐานคุณภาพการบิน AS9100D อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทย มีหน่วยงานภาครัฐที่มีความพร้อมในการให้บริการทดสอบและรับรองคุณภาพความปลอดภัยของชิ้นส่วนอากาศยานเพียง 2 หน่วยงาน คือ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) โดยมีห้องปฏิบัติการมีเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบและสามารถประทับตราให้การรับรองตามมาตรฐานสากลด้านการบิน เช่นเดียวกับประเทศผู้ผลิต บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ดำเนินกิจการด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานให้แก่ภาครัฐและเอกชน มีขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงตั้งแต่ระดับกลางถึงระดับโรงงาน รวมถึงจัดหาพัสดุอะไหล่และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง TAI ได้รับการรับรองระบบบริหารคุณภาพ AS9110C นอกจากนี้ TAI ได้มีข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท Airbus Helicopter Southeast Asia ให้เป็นผู้แทน (Distributor) ในการสนับสนุนการบริการและการส่งกำลังบำรุง เฮลิคอปเตอร์ตระกูล Airbus ในประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและขีดความสามารถของบริษัทฯ ตามวิสัยทัศน์ “เป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานมาตรฐานสากลโดยคนไทย” นอกจากนี้ TAI ได้ให้คำแนะนำ และการสนับสนุนผู้ประกอบการภายในประเทศ (THAI SUBCON) ที่มีศักยภาพ สามารถผลิตชิ้นส่วนอากาศยานทดแทนใช้ในการซ่อมบำรุงฯ สำหรับอากาศยานบางประเภท โดยร่วมประสานงานกับกองทัพอากาศในการรับรองการใช้งาน ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว มีความจำเป็นต้องดำเนินการทดสอบในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน AS91000 เพื่อให้ผู้ใช้งานเกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพการผลิต มีความปลอดภัยตามมาตรฐานด้านการบิน การจัดทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ 4 ฝ่าย ในครั้งนี้ เป็นโอกาสครั้งสำคัญของประเทศไทยที่จะผลักดันอุตสาหกรรมการบินของประเทศ โดยเริ่มต้นจากอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงฯ ผลิตชิ้นส่วนฯ ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการและพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพื่อยกระดับเทคโนโลยีการซ่อมบำรุงฯ ส่งเสริมการเติบโตและต่อยอดในภาคธุรกิจของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศด้านการบินให้สามารถขยายเชิงพานิชย์ เพิ่มความสามารถในการแข่งชัน นับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทยต่อไป